วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความชุกและปัจจัยเสี่ยงต่ออาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในพนักงานเก็บขนขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดหนองบัวลำภู

Prevalence and Risk Factors of Musculoskeletal Disorders among Solid Waste Collectors employed by the Local Administrative Organizations at Nong Bua Lam Phu Province
พีรพงษ์ จันทราเทพ(1)และสุนิสา ชายเกลี้ยง(2)
(1) นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (e-mail: uorawa@kku.ac.th)
(2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วัตถุประสงค์ : ศึกษาความชุกของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ (MSDs) และปัจจัยเสี่ยงที่มีสัมพันธ์กับอาการ MSDs ในพนักงานเก็บขนขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดหนองบัวลำภู

กลุ่มตัวอย่าง : พนักงานเก็บขนขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 160 คน

การเก็บข้อมูล : เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและแบบสำรวจสภาพแวดล้อมในการทำงาน

วิธีวิเคราะห์ : สถิติเชิงพรรณนาใช้วิเคราะห์คุณลักษณะทั่วไปและความชุก สถิติเชิงอนุมานใช้ทดสอบปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับอาการ MSDs ได้แก่ ไคสแควร์และ Fisher’s exact test และ Multiple logistic regression นำเสนอค่าความสัมพันธ์ด้วย Odds ratio (OR) และ 95%CI โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

ผลการวิจัย :
1. ความชุกของอาการ MSDs ในรอบ 7 วันที่ผ่านมาและในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 73.8 (95% CI =66.2180.38) และร้อยละ 90.0 (95% CI = 84.2694.17) ตามลำดับ
2. เมื่อพิจารณาตำแหน่งของร่างกาย ความชุกของอาการ MSDs สูงสุดที่ตำแหน่งของหลังส่วนล่างคือ ร้อยละ 77.5 รองลงมาคือ แขนท่อนบน ร้อยละ 58.8 และไหล่ร้อยละ 56.9 ตามลำดับ
3. เมื่อพิจารณาระดับความรุนแรงของการปวดพบว่า ตำแหน่งที่มีความรุนแรงสูงสุดสามอันดับแรกคือหลังส่วนล่าง หลังส่วนบน และไหล่ตามลำดับ
4. ผลการวิเคราะห์ปัจจัยสัมพันธ์เชิงเดี่ยวพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการ MSDsของพนักงานเก็บขนขยะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ 40 ปี (OR = 3.64, 95% CI = 1.1711.22), อายุการทำงานเก็บขนขยะ 4 ปี (OR = 6.42, 95% CI = 1.8621.87), การสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน (OR = 5.29, 95% CI = 1.418.18), การทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ (OR = 5.14, 95% CI = 1.1047.91), การห้อยโหนบนรถเก็บขนขยะ (OR = 3.71, 95%CI = 1.1312.53), การไม่หยุดพักระหว่างปฏิบัติงาน (OR = 3.03, 95% CI = 1.07 - 8.52) และ BMI ≥ 25 kg/m2 (p =0.024)
5. ผลการวิเคราะห์แบบพหุลอจิสติก พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการ MSDs อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ อายุ 40 ปี (adjOR = 5.35, 95% CI = 1.0926.19), อายุการทำงาน 4 ปี (adjOR = 4.95, 95% CI =1.0223.94),การสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน (adjOR = 7.27, 95% CI = 1.1446.27), การไม่หยุดพักระหว่างปฏิบัติงาน (adjOR = 7.05, 95% CI = 1.4833.42) และการทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ (adjOR = 5.80, 95% CI = 1.0232.86)
ดังนั้น การศึกษานี้ได้ชี้บ่งสภาพปัญหาของการเกิดอาการ MSDs ที่สูงในกลุ่มพนักงานเก็บขนขยะโดยเฉพาะตำแหน่งของหลังส่วนล่างซึ่งมีความรุนแรงสูงสุด โดยปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิด MSDs นั้นเป็นทั้งปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานและที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการส่งเสริมสุขภาพพนักงานและการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานกลุ่ม MSDs ในพนักงานเก็บขนขยะต่อไป

ข้อเสนอแนะ : 1) ควรใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการแนะนำหรือให้ความรู้สำหรับพนักงานเก็บขนขยะ เกี่ยวกับการยศาสตร์การทำงานที่เหมาะสมกับสรีระของแต่ละบุคคล ขั้นตอนการทำงานในการก้มยกและเทถังขยะ การหยุดพักระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง
                        2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดระบบการทำงานของพนักงานเก็บขนขยะตามหลักการยศาสตร์ โดยคำนึงถึงจำนวนวันที่ปฏิบัติงานต่อสัปดาห์ให้น้อยลง และให้พนักงานได้หยุดพักระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อลดภาระงานที่พนักงานเก็บขนขยะได้รับ ตลอดจนการออกแบบที่ยืนบนรถไว้สำหรับพนักงานเก็บขนขยะให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานควบคุมและป้องกันอันตรายของพนักงานเก็บขนขยะจากอาการ MSDs ประสบความสำเร็จมากที่สุด

คำสำคัญ : อาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ, พนักงานเก็บขนขยะ, ความชุก

Credit : วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม  สิงหาคม 2554