วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สภาพการทำงานและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานของพนักงานขนย้ายสินค้า

Working conditions and risk behaviors related to occupational accidents among material handling operators

จุฑาทิพย์ รัตนอนุ, ธานี แก้วธรรมานุกูล,วราภรณ์ เลิศพูนวิไลกูล
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Jutatip Rattanaanu, Thanee Kaewthummanukul, Waraporn Lertpoonwilaikul
Faculty of Nursing, Chiang Mai University

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาสภาพการทำงาน พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และอุบัติเหตุจากการทำงานของพนักงานขนย้ายสินค้า และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง สภาพการทำงาน พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และอุบัติเหตุจากการทำงานของพนักงานขนย้ายสินค้า

กลุ่มตัวอย่าง : พนักงานขนย้ายสินค้าที่ปฏิบัติงานแผนกรับสินค้าต้นทาง แผนกรับสินค้าปลายทางและแผนกคลังสินค้า จำนวน 304 คน ใน สถานประกอบกิจการขนส่งสินค้าขนาดกลางที่มีการใช้ระบบการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 1 โรงงาน

การเก็บข้อมูล
  1. เครื่องมือตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพด้านเสียงและแสงที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล และสอบเทียบความถูกต้องของเครื่องมือ (basic calibration) ตามเกณฑ์ที่กำหนด  
  2. แบบสัมภาษณ์สภาพการทำงาน พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และอุบัติเหตุจากการทำงานสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม

วิธีวิเคราะห์ : ข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และอุบัติเหตุจากการทำงานวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ส่วนข้อมูลสภาพการทำงานแบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลที่ได้จากแบบสัมภาษณ์วิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และข้อมูลจากการตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ เสียง และแสงสว่าง วิเคราะห์โดยการแจกแจงความถี่และร้อยละ

ผลการวิจัย 
  1. สภาพการทำงานโดยรวมของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับเสี่ยงสูง ร้อยละ 46.38
  2. พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานโดยรวมของกลุ่มตัวอย่างในระดับสูง ร้อยละ 15.97 และระดับปานกลาง ร้อยละ 70.06
  3. อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานของกลุ่มตัวอย่างนับตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ร้อยละ 73.03 และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาร้อยละ 38.16
  4. สภาพการทำงานและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน พบว่า มีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR = 2.03, p<0.05 และ OR = 1.87, p<0.05 ตามลำดับซึ่งเห็นได้ว่าสภาพการทำงานยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และพนักงานขนย้ายยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ข้อเสนอแนะ : พยาบาลอาชีวอนามัยและทีมงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยควรตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้พนักงานมีพฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัยร่วมกับการปรับปรุงสภาพการทำงานให้มีความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานของพนักงาน

คำสำคัญ : ความปลอดภัยในการทำงาน พฤติกรรมเสี่ยงในการทำงาน อุบัติเหตุจากการทำงาน

Credit : วารสารสาธารณสุขมหาวิทยาลัยบูรพา  ปี 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2553