วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อัตราความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังส่วนล่างของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

PREVALENCE RATE AND RELATED FACTORS OF LOW BACK PAIN AMONG BUS DRIVERS IN BANGKOK BUS TERMINAL (CHATUCHAK)

นายวรศักดิ์ ยิ้มศิริวัฒนะ
Worrasak Yimsiriwattana
อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ.นพ. สุนทร ศุภพงษ์ดร. สสิธร เทพตระการพร
Asst.Prof. Soontorn Supapong, M.D., Msc. Sasitorn Taptagaporn, B.Sc., M.P.H., Ph.D.
วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาอาชีวเวชศาสตร์ 2548
Master. Science (Occupational Medicine) 2548


วัตถุประสงค์ : เพื่อหาอัตราความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังส่วนล่างของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

วิธีวิเคราะห์ : 
  1. รวบรวมข้อมูลและนำไปวิเคราะห์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for window version 11.5
  2. ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่อายุน้ำหนัก ส่วนสูง ระยะทาง ระยะเวลาการทำงาน เวลาหยุดพัก จำนวนเที่ยวในการขับรถแต่ละวัน นำเสนอด้วยค่า เฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
  3. ข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ การศึกษา โรคประจำตัว สูบบุหรี่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมจิตสังคม ความอ่อนตัวของร่างกาย นำเสนอด้วยค่าความถี่ ร้อยละ
  4. ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านต่างๆกับการเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยวิธีChi-square
  5. หาขนาดของความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านต่างๆกับการเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยใช้Odds ratio และคำนวณโดยใช้วิธีของ Mantel Haenszel (univariate analysis)

กลุ่มตัวอย่าง : พนักงานขับรถรับส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดจำนวน 348 คน แบ่งตามเส้นทางการเดินรถเป็นสายเหนือ 121 คน กลาง 80 คน และตะวันออกเฉียงเหนือ 147 คน

การเก็บข้อมูล : โดยใช้แบบสอบถามและตรวจร่างกายเบื้องต้นเหลือกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการศึกษา 255 คน คิดเป็นอัตราเข้าร่วมการศึกษาร้อยละ 73.3

ผลการศึกษา : พบว่า อัตราความชุกของอาการปวดหลังส่วนล่างในพนักงานขับรถเท่ากับ 71.8 คนต่อประชากร 100 คน
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาคารปวดหลังส่วนล่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่
·       ค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน (BMI>25)
·       ความอ่อนตัวของร่างกายไม่ดี ระยะเวลาที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 ปี
·       ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกาย ระยะเวลาขับรถ 4-6 ชั่วโมงต่อวัน
·       การนั่งขับรถเอนตัวไปข้างหน้าและพิงร่างกายส่วนบนไว้กับพวงมาลัย
·       ความรู้สึกมีอิสระในการตัดสินใจระดับต่ำ
·       รู้สึกว่ามีแรงสั่นสะเทือนบริเวณเบาะคนขับเล็กน้อยพอทนได้
·       มีเสียงรบกวนขณะขับรถ
·       ไม่มีที่ปรับเบาะหรือมีแต่ไม่ได้ปรับให้เหมาะสม
·       ความรู้สึกว่ามีเวลาอยู่กับครอบครัวไม่เพียงพอ
·       ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุขณะขับรถ
สำหรับความรุนแรงของอาการดังกล่าวพบว่า ส่วนใหญ่มีอาการปวดหลังในแต่ละครั้งประมาณ 2-7 วันแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องหยุดงาน และตลอดระยะเวลา 1 ปีส่วนใหญ่มีอาการมากกว่า 30 วันแต่ไม่ทุกวัน และหยุดงาน 1-7 วันต่อปี การดูแลรักษาส่วนใหญ่ใช้วิธีบีบนวดด้วยตนเอง และป้องกันโดยการออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อก่อนการขับรถ
สรุป จากการศึกษาในครั้งนี้พบว่าอาการปวดหลังส่วนล่างพบได้บ่อยในพนักงานขับรถและเป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อพนักงาน รวมถึงเจ้าของกิจการที่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการหยุดงาน ดังนั้นควรจัดให้มีการป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวจากปัจจัยที่พบว่าเกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังส่วนล่าง

ข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ :
1. ควรจะมีการศึกษาถึงอัตราความชุกของโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการประกอบอาชีพ (Work related disease) ของพนักงานขับรถ เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน รวมถึงสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในงานได้แก่ การหลับในขณะขับรถ การขาดประสบการณ์ สาเหตุจากสภาพรถหรือเครื่องยนต์ เป็น
2. ควรจะมีการศึกษาลักษณะการทำงาน เช่น ท่าทางการทำงาน โดยใช้วิธีการสังเกตของผู้วิจัยจะทำให้ข้อมูลที่ได้รับน่าเชื่อถือมากกว่าการตอบแบบสอบถาม
3. การศึกษาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าใช้เครื่องมือในการตรวจวัด เช่น เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือน เครื่องวัดปริมาณเสียงจากเครื่องยนต์ และภายนอกรถ จะทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากขึ้น
4. การศึกษาปัจจัยด้านจิตสังคม นอกจากจะศึกษาในที่ทำงานแล้ว ควรคำนึงถึงปัจจัยจิตสังคมที่อยู่นอกงาน เช่น ครอบครัว ญาติพี่น้อง ภาวะเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ :
          1. ควรจัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่ออบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ โดยเน้นให้เห็นความสำคัญ และแนวทางการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในงานโดยเฉพาะโรคปวดหลังส่วนล่าง
          2. ควรจัดให้มีการตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพในการทำงาน ความเหมาะสมในหน้าที่ของพนักงานขับรถเป็นระยะ และมีการตรวจตามความเสี่ยง เช่น ตรวจความอ่อนตัวของร่างกาย นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพประจำปี
          3. ควรจัดให้พนักงานมีส่วนร่วมในการวางแผนในการทำงาน หรือรับทราบข้อมูลใดๆที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัท และพนักงานด้วย
          4. เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ควรรีบให้การรักษาเพื่อให้สามารถกลับเข้าทำงานได้เร็วที่สุด เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง และการสูญเสียสมรรถภาพการทำงาน และควรจัดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานหลังจากมีอาการเจ็บป่วย (Return to work)
          5. ควรจัดโครงการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานขับรถ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคกระเพาะอาหาร และการบาดเจ็บระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ