วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของทันตบุคลากรในสถานบริการของรัฐ จังหวัดขอนแก่น

Musculoskeletal disorders among dental personnel of government sector in Khon Kaen province.
รัชติญา นิธิธรรมธาดา1, สุนิสา ชายเกลี้ยง2,* และรุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล3
Rachatiya Nithithamthada1, Sunisa Chaiklieng2* and Rungthip Puntumetakul3
1 สาขาวิชาวิทยาการระบาด คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2 ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3 กลุ่มวิจัยปวดหลัง ปวดคอ และปวดข้ออื่นๆ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
* Correspondent author: csunis@kku.ac.th


วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของทันตบุคลากรในสถานบริการของรัฐ จังหวัดขอนแก่น

กลุ่มตัวอย่าง : จำนวน 282 ราย

การเก็บข้อมูล : เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง

วิธีวิเคราะห์ : วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์หาความชุก และช่วงความเชื่อมั่น 95% CI

ผลการวิจัย : ทันตบุคลากรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 81.9 มีอายุเฉลี่ย เท่ากับ 32.8 ปี (ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน= 9.4) มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ (18.5 – 22.9 กิโลกรัม/เมตร2) ร้อยละ 55.3 ทันตบุคลากรส่วนใหญ่เป็นทันตาภิบาล ร้อยละ 46.4 รองลงมาคือทันตแพทย์ ร้อยละ 22.0 และผู้ช่วยเหลือคนไข้ ร้อยละ 18.1 ตามลำดับ
ความชุกของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา และรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาโดยไม่คำนึงถึงระดับความรุนแรงและความถี่ พบร้อยละ 57.8 (95% CI = 51.8-63.6) และ ร้อยละ 93.6 (95% CI = 90.0-96.2) ตามลำดับ
ความชุกในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาความรุนแรงอยู่ที่ระดับรู้สึกมาก 3 ตำแหน่งแรกที่มีอาการสูงสุด คือบริเวณไหล่ขวาหรือซ้าย ร้อยละ 24.6 เอวหรือหลังส่วนล่าง ร้อยละ 19.3 และคอ ร้อยละ 16.7 ตามลำดับ
เมื่อคำนึงถึงความถี่ของการเกิดอาการที่ระดับมีอาการทุกวัน พบสูงสุด 3 ตำแหน่งแรก คือบริเวณไหล่ขวาหรือซ้าย ร้อยละ 13.6 คอ ร้อยละ 11.7 และเอวหรือหลังส่วนล่าง ร้อยละ 7.6 ตามลำดับ
ในจำนวนทันตบุคลากรที่มีอาการปวด จำนวน 264 ราย พบว่าอาการปวดส่งผลกระทบต่อการทำงานแต่สามารถทำกิจกรรมได้ปกติ ร้อยละ 76.1 โดยอาการเหล่านี้เกิดจากการทำงาน ร้อยละ 71.2 ช่วงเวลาที่มีอาการปวดรุนแรงที่สุดคือตอนเย็นหลังเลิกงาน ร้อยละ 41.3 ต้องใช้ยาระงับอาการปวดหรือพบแพทย์แผนไทย ร้อยละ 64.6
ผลการศึกษานี้บ่งชี้ปัญหาด้านการปวดคอ ไหล่ หลัง ในทันตบุคลากรซึ่งพบว่ามีระดับความรุนแรงและความถี่ที่สูงจึงมีข้อเสนอแนะให้มีการเฝ้าระวังความผิดปกติของคอ ไหล่ หลังในทันตบุคลากรต่อไป รวมทั้งหาแนวทางป้องกันโดยทำการศึกษาเชิงลึกแบบติดตามไปข้างหน้าเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง


คำสำคัญ: ความชุก ความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ทันตบุคลากร

Credit : KKU Res. J. 2013; 18(5)

การบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานและพฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัยของพนักงานศูนย์บริการให้ข้อมูล

Work - related Musculoskeletal Injuries and Work Safety Behaviors Among Call Center Workers.
ฐิติชญา ฉลาดล้น*
พิมพ์ลดา อนันต์สิริเกษม*
* พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
Thitichaya Chalardlon*
Phimlada Anansirikasem**
* Nurse Instructor, Boromarajonani College of Nursing, Chakriraj


วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษา
1) การบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน
2) พฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัย
3) ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัยและการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานของพนักงานศูนย์บริการให้ข้อมูล
แห่งหนึ่งในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 323 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) ข้อมูลส่วนบุคคล
2) ข้อมูลการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน
3) ข้อมูลพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและทดสอบความสัมพันธ์โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์

ผลการวิจัย : พบว่า อัตราการเกิดการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานของกลุ่มตัวอย่างในช่วงระยะเวลา 12 เดือน และ 7 วันที่ผ่านมา เท่ากับ ร้อยละ 74.0 และร้อยละ 60.40 ตามลำดับ
ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา พบการบาดเจ็บบริเวณคอ ร้อยละ 61.08 บริเวณหลังส่วนบนร้อยละ 55.68 และบริเวณหลังส่วนล่าง ร้อยละ 53.14
ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา พบการบาดเจ็บบริเวณหลังส่วนล่าง ร้อยละ 58.46 บริเวณคอร้อยละ 51.28 และบริเวณหลังส่วนบนร้อยละ 50.26
นอกจากนี้ยังพบว่า การบาดเจ็บส่งผลกระทบต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวันของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 17.00 ในด้านพฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัย
เมื่อพิจารณาในรายด้านพบว่า กลุ่มตัวอย่าง
-ร้อยละ67.50 มีพฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัยด้านการปรับท่าทางการทำงานในระดับปานกลาง
-การพักช่วงระหว่างการทำงาน อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 52.30
-การจัดสถานที่ทำงานและอุปกรณ์การทำงาน อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 88.9
-การเลือกใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือการทำงานกับคอมพิวเตอร์ ระดับปานกลางร้อยละ 80.50
นอกจากนี้ยังพบว่า
พฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานโดยรวมไม่มีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา
แต่เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่าพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานด้านการพักระหว่างการทำงาน มีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)
ในช่วงเวลา 7 วันที่ผ่านมาพบว่าพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานด้านการพักระหว่างการทำงาน และด้านการจัดสถานที่ทำงานและอุปกรณ์การทำงานมีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05)

คำสำคัญ : การบาดเจ็บทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน พฤติกรรมการทำงานที่ปลอดภัย

Credit : วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข 

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การรับรู้ความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในพนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี

จังหวัดอุดรธานี
Recognition of Musculoskeletal Disorders among workers of the electronic industry in Udon Thani Province
นภานันท์ ดวงพรม1 และสุนิสา ชายเกลี้ยง2*
Napanun Duangprom1 and Sunisa Chaiklieng2*
1 สาขาวิทยาการระบาด คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2 ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
* Correspondent author: csunis@kku.ac.th


วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในพนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี

กลุ่มตัวอย่าง : พนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี จำนวน 204 คน โดยคัดเลือกพนักงานที่ทำงานในสายการผลิต

การเก็บข้อมูล : โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการสำรวจสภาพแวดล้อมการทำงาน คือวัดระดับแสงสว่างและเสียงดัง

ผลการศึกษา : พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 88.7 อายุเฉลี่ย 26.6 ปี ลักษณะงาน มีหน้าที่ในการส่องกล้องจุลทรรศน์ ร้อยละ 50.0 และเจาะตัดชิ้นส่วน ร้อยละ 49.0 ทุกคนมีการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และ 10 ชั่วโมงต่อวัน
สภาพแวดล้อมในการทำงาน มีการทำงานซ้ำซากท่าเดิม ร้อยละ 97.5 นั่งทำงานมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 54.3 และยืนทำงานมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 47.2
ผลการตรวจวัดแสงสว่างหน้างานในทุกพื้นที่หน้างานพบ ค่าความเข้มของแสงสว่าง เป็นไปตามมาตรฐาน และระดับเสียงดัง บริเวณเจาะ มีค่า 84.3- 85.6 เดซิเบลเอไม่เกินค่ามาตรฐานตามกฎกระทรวงแรงงาน
ความชุกของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบร้อยละ 92.7 (95%CI : 89.2– 96.1)โดยความชุกของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ 3 ตำแหน่งแรก สูงสุดได้แก่ ไหล่ ร้อยละ 79.4 (95%CI :74.5 – 85.3) คอ ร้อยละ 75.0 (95%CI : 69.0 – 81.7) และหลังส่วนบน ร้อยละ 70.6 (95%CI : 64.5 – 77.6) เมื่อคำนึงถึงความรุนแรงของอาการปวดตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปพบความชุกสูงสุด 3 อันดับแรกในตำแหน่งเดียวกันนี้

ข้อเสนอแนะ : ผลการศึกษานี้พบความชุกของระบบโครงร่างกล้ามเนื้อที่สูงในพนักงาน ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับสภาพของงาน จึงควรมีการเฝ้าระวังโรคทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ในพนักงาน โดยพนักงานควรมีความรู้ทางการยศาสตร์เพื่อการปฏิบัติตนและมีท่าทางที่ถูกต้องในการทำงาน สถานประกอบการควรมีการตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงานอย่างต่อเนื่องและจัดให้มีช่วงเวลาพักจากการทำงานที่เหมาะสมของพนักงาน

คำสำคัญ: ความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ, พนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สภาพแวดล้อมในการทำงาน


Credit : KKU Res. J. 2013; 18(5)

ความชุกของความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในแรงงานนอกระบบกลุ่มดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยกอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

Prevalence of Musculoskeletal Disorders Among Informal Sector Workers of Hand-Operated Rebar Bender in Non-Sung District of Nakhon Ratchasima Province
วิวัฒน์ สังฆะบุตร (Wiwat Sungkhabut)1* ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง (Dr.Sunisa Chaiklieng)**

1 Correspondent author: ph_academics@hotmail.com
* นักศึกษา หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
** ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความชุกของความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในแรงงานนอกระบบ กลุ่มดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยก ซึ่งไม่รวมแรงงานต่างด้าว

กลุ่มตัวอย่าง : เป็นการสุ่มอย่างเป็นระบบ จำนวน 241 คน

การเก็บข้อมูล : ประยุกต์ใช้แบบสอบถามมาตรฐาน Standardized Nordic questionnaire ที่ได้แปลเป็นภาษาไทย ในการสัมภาษณ์ และประเมินความเหมาะสมของสถานีงาน

ผลการวิจัย :
ความชุกในรอบ 12 เดือนที่ผ่าน มาสูง 3 อันดับแรกคือในบริเวณข้อมือ/มือ ร้อยละ 78.8 (95% CI: 73.1,83.8) หลังส่วนล่าง ร้อยละ 68.9 (95% CI: 62.6,74.7) และไหล่ ร้อยละ 46.9 (95% CI: 40.5,53.4) ตามลำดับ
สำหรับในรอบ 7 วันที่ผ่าน มาพบความชุกสูงบริเวณเดียวกัน โดยอาการปวดที่รบกวนการทำงานพบสูงสุดที่ข้อมือ หลังส่วนล่าง และคอ ตามลำดับ
ผลการประเมินความเหมาะสมของสถานีงานและแสงสว่างในการทำงานพบว่าไม่เหมาะสมใน บางสถานีงาน ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเฝ้าระวังโรคและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานในกลุ่มแรงงานที่ประกอบอาชีพดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยกได้


คำสำคัญ : ความชุก ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ดัดเหล็กปลอกเสา

Credit : วารสารวิจัย มข. (บศ.) 13 (1) : ม.ค. - มี.ค. 2556

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในแรงงานนอกระบบกลุ่มดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยก: การศึกษานำร่อง

Musculoskeletal Disorders among Informal Sector Workers of Hand-Operated Rebar Bender: A Pilot Study
วิวัฒน์ สังฆะบุตร1, สุนิสา ชายเกลี้ยง2*
1กลุ่มปฏิบัติการควบคุมโรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา
2ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Wiwat Sungkhabut1, Sunisa Chaiklieng2*
1Section of Public Health Emergency Response and Disease Control, The Office of Disease Prevention and Control 5th Nakhon Ratchasima Province
2Department of Environmental Health Science, Faculty of Public Health, Khon Kaen University


หลักการและวัตถุประสงค์: สิ่งคุกคามจากการทำงานเป็นสาเหตุหนึ่งของความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ (MSDs) อาชีพดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยกมีลักษณะงานที่ต้องใช้แรงกายและมีกิจกรรมซ้ำซากที่เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติดังกล่าวได้

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาภาวะผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อและความเครียดจากการทำงานในแรงงานดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยก

วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษานำร่อง (Pilot Study) ในแรงงานกลุ่มดัดเหล็กปลอกเสาของหมู่บ้านด่านเกวียน ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

กลุ่มตัวอย่าง : กลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน ได้จากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling)

การเก็บข้อมูล : โดยการสัมภาษณ์ร่วมกับการสังเกต ด้วยแบบสอบถามที่ประยุกต์จาก Standardized Nordic questionnaire และแบบประเมินความเครียด Karasek’s Job content questionnaire
วิธีวิเคราะห์ : วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา

ผลการศึกษา: แรงงานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 66.7 อายุต่ำสุด 26 ปี และสูงสุด 74 ปี (อายุเฉลี่ย เท่ากับ 51.1 ปี) มีอายุการทำงานต่ำสุด 2 ปี และสูงสุด 12 ปี ระดับหน้างานต่ำกว่าข้อศอกร้อยละ 83.3 ทุกคนทำงานซ้ำๆ อย่างน้อย 300 กิโลกรัมต่อวัน
สัดส่วนของอาการ MSDs ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สูงสุดในบริเวณข้อมือ/มือ ร้อยละ 90.0 หลังส่วนล่างร้อยละ 80 และคอ ร้อยละ 56.7 ตามลำดับ
ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบว่าสูงสุดเท่ากันที่บริเวณที่ข้อมือ/มือ และหลังส่วนล่าง คือ ร้อยละ 76.7 รองลงมาคือคอและไหล่เท่ากัน คือ ร้อยละ 50.0
ผลการประเมินความเครียดพบว่า พนักงานมีความคิดเห็นว่างาน (ภาระงานและการควบคุมงาน) สามารถก่อให้เกิดความเครียดได้ระดับสูง ร้อยละ 83.3สิ่งคุกคามจากสภาพแวดล้อมและทางสังคมจิตใจจากการทำงานสามารถก่อให้เกิดความเครียดได้ระดับปานกลางร้อยละ 66.7 และร้อยละ 50 ตามลำดับ สิ่งคุกคามทางกายอันมีผลกระทบต่อการทำงาน ก่อให้เกิดความเครียดได้ระดับต่ำ ร้อยละ 76.6

สรุป: อาการปวดที่ตำแหน่งข้อมือ/มือ หลังส่วนล่าง และคอที่สูงในกลุ่มอาชีพดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยกนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเฝ้าระวังโรคทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อจากการทำงาน และการค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในกลุ่มอาชีพนี้ต่อไป


คำสำคัญ: ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ, ความเครียด, ดัดเหล็กปลอกเสาระบบมือโยก

Credit : ศรีนครินทร์เวชสาร 2554; 26(3): 225-32 

ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในแรงงานก่อสร้างย้ายถิ่นชั่วคราวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Musculoskeletal Disorders Among Northeastern Construction Workers with Temporary Migration
อรวรรณ แซ่ตั๋น1, จิราพร เขียวอยู่1, ชุลี โจนส์2, ดุษฎี อายุวัฒน์3
1ภาควิชาชีวสถิติและประชากรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์,
2ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์,
3ภาควิชาสังคมวิทยามานุษวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Orawan Seatan1, Jiraporn Khiewyoo1, Chulee Jones2, Dusadee Ayuwat3
1Department of Biostatistics and Demography, Faculty of Public Health,
2Department of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences,

3Department of Sociology and Anthropology, Faculty of Humanities and Social Sciences, Khon Keaen University.

หลักการและเหตุผล : ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อเป็นปัญหาอย่างมากในหลายๆอาชีพ อย่างไรก็ตามยังไม่พบว่ามีการสำรวจความชุกนี้ในแรงงานก่อสร้างย้ายถิ่นชั่วคราวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความชุกของความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายในแรงงานก่อสร้างย้ายถิ่นชั่วคราวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางในแรงงานก่อสร้างย้ายถิ่นชั่วคราวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ไปทำงานก่อสร้างจังหวัดชลบุรี

กลุ่มตัวอย่าง : สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงแรงงานก่อสร้างที่ไปทำงาน ณ สถานประกอบการแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ทุกคนที่ทำงานอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2549 จำนวน 257 คน

วิธีการ : วัดความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อโดยประยุกต์ใช้แบบสอบถาม Standardized Nordic Questionnaire ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงและความเที่ยงแล้ว

ผลการวิจัย :
ความชุกของความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อใน 12 เดือนที่ผ่านมาสูงในบริเวณหลังส่วนล่างร้อยละ 33.5(95% CI: 27.7-39.3) เข่า ร้อยละ 19.5 (95% CI: 14.6-24.3) และไหล่ ร้อยละ 14.0 (95% CI: 10.1-18.7) ตามลำดับ
สำหรับในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบความชุกสูงทั้งสามส่วนของร่างกายนี้เช่นเดียวกัน แต่มีความชุกต่ำกว่าเล็กน้อย โดยพบความชุกบริเวณหลัวส่วนล่าง ร้อยละ 24.5 (95% CI: 19.2-29.8) เข่า ร้อยละ 14.0 (95% CI: 9.7-18.2) และไหล่ ร้อยละ 10.9 (95% CI: 7.1-14.7)

สรุป : การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าแรงงานก่อสร้างมีความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง เข่า และไหล่สูงกว่าบริเวณอื่นๆ ตามลำดับ ดังนั้น จึงควรมีการชี้แนะให้แรงงานก่อสร้างตระหนักถึงผลกระทบ และเห็นความสำคัญของการป้องกันปัญหานี้

คำสำคัญ : musculoskeletal disorders, construction workers, temporary migration, Standardized Nordic Questionnaire

Credit : ศรีนครินทร์เวชสาร 2550; 22(2)   

วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความชุกของภาวะความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในชาวนา: กรณีศึกษาตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

Prevalence of musculoskeletal disorders in farmers: Case study in Sila,
Muang Khon Kaen, Khon Kaen province

รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล1*, วัณทนา ศิริธราธิวัตร1, ยอดชาย บุญประกอบ1, วิชัย อึงพินิจพงศ์1, มณเฑียร พันธุเมธากุล2
Rungthip Puntumetakul1*, Wantana Siritaratiwat1, Yodchai Boonprakob1,
Wichai Eungpinichpong1, Montien Puntumetakul2

1กลุ่มวิจัยปวดหลัง ปวดคอ และปวดข้ออื่นๆ สายวิชากายภาพบำบัด
2 สายวิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
* ผู้รับผิดชอบบทความ
1Back, Neck and Other Joint Pain Research Group, School of Physical Therapy,
2Department of Medical Technology, Faculty of Associated Medical Sciences,
Khon Kaen University

* Corresponding author (e-mail: rungthip45@yahoo.com)

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความชุกของภาวะความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในชาวนา

กลุ่มตัวอย่าง : ชาวนาที่มีอายุระหว่าง 20 – 75 ปี และอาศัยอยู่ในตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 311 คน

การเก็บตัวอย่าง : อาสาสมัครทุกคนจะต้องตอบแบบสอบถาม Standardized Nordic Questionnaire

ผลการศึกษา :
ความชุกของความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ 4 อันดับแรกในรอบ 7 วัน คือ หลังส่วนล่าง ร้อยละ 56.91 (95% CI: 51.37-62.44) บริเวณเข่า ร้อยละ 28.62 (95% CI: 23.36-33.66) บริเวณสะโพก/ต้นขา ร้อยละ 25.40 (95% CI: 20.53-30.26) และบริเวณไหล่ ร้อยละ 25.08 (95% CI: 20.23-29.92) ตามลำดับ
ความชุกของความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ 4 อันดับแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบความผิดปกติบริเวณหลังส่วนล่าง ร้อยละ 73.31 (95% CI: 68.36-78.25) บริเวณสะโพก/ต้นขา ร้อยละ 41.16 (95% CI: 35.65-46.65) บริเวณไหล่ ร้อยละ 36.01 (95% CI: 30.64-41.37) และบริเวณเข่า ร้อยละ 35.37 (95% CI: 30.02-40.71)
ผลการศึกษาแสดงว่า อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นความผิดปกติที่พบได้มากที่สุดในชาวนา  
คำสำคัญ:
ความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ, ชาวนา

Credit : 
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2554