วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การรับรู้ความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในพนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี

จังหวัดอุดรธานี
Recognition of Musculoskeletal Disorders among workers of the electronic industry in Udon Thani Province
นภานันท์ ดวงพรม1 และสุนิสา ชายเกลี้ยง2*
Napanun Duangprom1 and Sunisa Chaiklieng2*
1 สาขาวิทยาการระบาด คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2 ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
* Correspondent author: csunis@kku.ac.th


วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในพนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี

กลุ่มตัวอย่าง : พนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี จำนวน 204 คน โดยคัดเลือกพนักงานที่ทำงานในสายการผลิต

การเก็บข้อมูล : โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการสำรวจสภาพแวดล้อมการทำงาน คือวัดระดับแสงสว่างและเสียงดัง

ผลการศึกษา : พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 88.7 อายุเฉลี่ย 26.6 ปี ลักษณะงาน มีหน้าที่ในการส่องกล้องจุลทรรศน์ ร้อยละ 50.0 และเจาะตัดชิ้นส่วน ร้อยละ 49.0 ทุกคนมีการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และ 10 ชั่วโมงต่อวัน
สภาพแวดล้อมในการทำงาน มีการทำงานซ้ำซากท่าเดิม ร้อยละ 97.5 นั่งทำงานมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 54.3 และยืนทำงานมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 47.2
ผลการตรวจวัดแสงสว่างหน้างานในทุกพื้นที่หน้างานพบ ค่าความเข้มของแสงสว่าง เป็นไปตามมาตรฐาน และระดับเสียงดัง บริเวณเจาะ มีค่า 84.3- 85.6 เดซิเบลเอไม่เกินค่ามาตรฐานตามกฎกระทรวงแรงงาน
ความชุกของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบร้อยละ 92.7 (95%CI : 89.2– 96.1)โดยความชุกของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ 3 ตำแหน่งแรก สูงสุดได้แก่ ไหล่ ร้อยละ 79.4 (95%CI :74.5 – 85.3) คอ ร้อยละ 75.0 (95%CI : 69.0 – 81.7) และหลังส่วนบน ร้อยละ 70.6 (95%CI : 64.5 – 77.6) เมื่อคำนึงถึงความรุนแรงของอาการปวดตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไปพบความชุกสูงสุด 3 อันดับแรกในตำแหน่งเดียวกันนี้

ข้อเสนอแนะ : ผลการศึกษานี้พบความชุกของระบบโครงร่างกล้ามเนื้อที่สูงในพนักงาน ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับสภาพของงาน จึงควรมีการเฝ้าระวังโรคทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ในพนักงาน โดยพนักงานควรมีความรู้ทางการยศาสตร์เพื่อการปฏิบัติตนและมีท่าทางที่ถูกต้องในการทำงาน สถานประกอบการควรมีการตรวจวัดสภาพแวดล้อมการทำงานอย่างต่อเนื่องและจัดให้มีช่วงเวลาพักจากการทำงานที่เหมาะสมของพนักงาน

คำสำคัญ: ความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ, พนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สภาพแวดล้อมในการทำงาน


Credit : KKU Res. J. 2013; 18(5)