วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของทันตบุคลากรในสถานบริการของรัฐ จังหวัดขอนแก่น

Musculoskeletal disorders among dental personnel of government sector in Khon Kaen province.
รัชติญา นิธิธรรมธาดา1, สุนิสา ชายเกลี้ยง2,* และรุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล3
Rachatiya Nithithamthada1, Sunisa Chaiklieng2* and Rungthip Puntumetakul3
1 สาขาวิชาวิทยาการระบาด คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2 ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3 กลุ่มวิจัยปวดหลัง ปวดคอ และปวดข้ออื่นๆ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
* Correspondent author: csunis@kku.ac.th


วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อของทันตบุคลากรในสถานบริการของรัฐ จังหวัดขอนแก่น

กลุ่มตัวอย่าง : จำนวน 282 ราย

การเก็บข้อมูล : เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง

วิธีวิเคราะห์ : วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์หาความชุก และช่วงความเชื่อมั่น 95% CI

ผลการวิจัย : ทันตบุคลากรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 81.9 มีอายุเฉลี่ย เท่ากับ 32.8 ปี (ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน= 9.4) มีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ (18.5 – 22.9 กิโลกรัม/เมตร2) ร้อยละ 55.3 ทันตบุคลากรส่วนใหญ่เป็นทันตาภิบาล ร้อยละ 46.4 รองลงมาคือทันตแพทย์ ร้อยละ 22.0 และผู้ช่วยเหลือคนไข้ ร้อยละ 18.1 ตามลำดับ
ความชุกของอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา และรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาโดยไม่คำนึงถึงระดับความรุนแรงและความถี่ พบร้อยละ 57.8 (95% CI = 51.8-63.6) และ ร้อยละ 93.6 (95% CI = 90.0-96.2) ตามลำดับ
ความชุกในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาความรุนแรงอยู่ที่ระดับรู้สึกมาก 3 ตำแหน่งแรกที่มีอาการสูงสุด คือบริเวณไหล่ขวาหรือซ้าย ร้อยละ 24.6 เอวหรือหลังส่วนล่าง ร้อยละ 19.3 และคอ ร้อยละ 16.7 ตามลำดับ
เมื่อคำนึงถึงความถี่ของการเกิดอาการที่ระดับมีอาการทุกวัน พบสูงสุด 3 ตำแหน่งแรก คือบริเวณไหล่ขวาหรือซ้าย ร้อยละ 13.6 คอ ร้อยละ 11.7 และเอวหรือหลังส่วนล่าง ร้อยละ 7.6 ตามลำดับ
ในจำนวนทันตบุคลากรที่มีอาการปวด จำนวน 264 ราย พบว่าอาการปวดส่งผลกระทบต่อการทำงานแต่สามารถทำกิจกรรมได้ปกติ ร้อยละ 76.1 โดยอาการเหล่านี้เกิดจากการทำงาน ร้อยละ 71.2 ช่วงเวลาที่มีอาการปวดรุนแรงที่สุดคือตอนเย็นหลังเลิกงาน ร้อยละ 41.3 ต้องใช้ยาระงับอาการปวดหรือพบแพทย์แผนไทย ร้อยละ 64.6
ผลการศึกษานี้บ่งชี้ปัญหาด้านการปวดคอ ไหล่ หลัง ในทันตบุคลากรซึ่งพบว่ามีระดับความรุนแรงและความถี่ที่สูงจึงมีข้อเสนอแนะให้มีการเฝ้าระวังความผิดปกติของคอ ไหล่ หลังในทันตบุคลากรต่อไป รวมทั้งหาแนวทางป้องกันโดยทำการศึกษาเชิงลึกแบบติดตามไปข้างหน้าเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง


คำสำคัญ: ความชุก ความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ทันตบุคลากร

Credit : KKU Res. J. 2013; 18(5)