วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะแรกของนักเรียนชายมัธยมศึกษาตอนต้น อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

Factors Related to the Early Stage of Alcohol Drinking among Male Students at Lower Secondary Schools, Bangnumprieo District, Chachoengsao Province

มัณฑนา ขอนดอก*, พรนภา หอมสินธุ์**, รุ่งรัตน์ ศรีสุริเวศน์**
*โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา
**คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
Mantana Khondok*, Pornnapa Homsin**, Rungrat Srisuriyawet**
*Tumbon Bangkhanak Health Promotion Hospital, Chachoengsao Province
**Faculty of Nursing Burapha University

วัตถุประสงค์ : ศึกษาความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะแรกของนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเป็นนักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

กลุ่มตัวอย่าง : จำนวน 424 คน ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ทัศนคติต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้นทุนชีวิตและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

วิธีวิเคราะห์ : ทดสอบความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้วยวิธีครอนบาคแอลฟา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Binary Logistic Regression

ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างมีความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะแรก ร้อยละ 63.2 อายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มครั้งแรกคือ 12.3 ปี ปัจจัยป้องกันและปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในระยะแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ 
  • ศาสนา (OR=4.01,95%CI=2.39 - 6.73)
  • อายุ (OR=1.99, 95%CI=1.19 - 3.34) 
  • ทัศนคติต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (OR=1.94, 95%CI=1.21 - 3.12) 
  • พลังชุมชน (OR=1.92, 95%CI=1.08 - 3.41) 
  • การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (OR=1.90, 95%CI=1.17 - 3.08) 
  • ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (OR=1.89, 95%CI=1.15 - 3.10) 
  • พลังครอบครัว (OR=1.79, 95%CI=1.01 - 3.17) 
  • และพลังตัวตน (OR=1.74, 95%CI=1.04 - 2.89)

ข้อเสนอแนะ : การป้องกันมิให้นักเรียนเริ่มต้นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมแก่เยาวชนอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ เพื่อการสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง การจัดกิจกรรมส่งเสริมต้นทุนชีวิตในด้านต่างๆ โดยเฉพาะพลังตัวตนพลังครอบครัวและพลังชุมชน อาทิเช่น จัดกิจกรรมให้เด็กๆได้ทบทวนตนเองเพื่อสร้างความเชื่อมั่น การสนับสนุนส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวให้มีความอบอุ่นและเป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกัน และการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชน

การศึกษาครั้งต่อไป : ควรศึกษาปัจจัยเชิงป้องกัน (Protective Factor) อื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาโปรแกรมในการป้องกันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเยาวชนที่มีลักษณะบูรณาการหลายองค์ประกอบ(Multi-component program)

คำสำคัญ : ปัจจัย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะแรก วัยรุ่น

Credit : วารสารสาธารณสุขมหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ ฉบับที่ มกราคม-มิถุนายน 2555