วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การประเมินผลกระทบของอุณหภูมิต่อการสวมใส่เข็มขัดรัดหน้าท้องในงานยก โดยวิธีการทางการยศาสตร์

The Effect of Ambient Temperature on Wearing Back Belt

หฤทัย โลหะศิริวัฒน์1* ธนิน ดำรงผาติ2 วรพจน์ สกุลเทอดเกียรติ3
1,2,3ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเพทฯ 10330
E-mail: paklinkz@hotmail.com*
Haruetai Lohasiriwat1* Tanin Dumrongpati2 Vorapoj Sakulterdkiat3
1,2,3Department of Industrial Engineering, Faculty of Engineering, Chulalongkorn
University, Patumwan, Bangkok 10330

วัตถุประสงค์ : การศึกษานี้เป็นการพิจารณาผลกระทบของการใส่เข็มขัดรัดหน้าท้องขณะทำการยกของในระนาบเดียวต่อตัวแปรที่แสดงค่าภาระงานตามวิธีทางการยศาสตร์ ทั้งทางกายและจิตใจ

วิธีการ : การพิจารณาค่าเฉลี่ยโมเมนต์ที่กระทำที่หลังส่วนล่าง อัตราการเต้นหัวใจ การประเมินภาระงานด้วยแบบสอบถาม Borg Scale และค่าสูงสุดของการประเมินน้ำหนักยกที่ยอมรับได้ด้วยตนเอง (Maximum acceptable weight limit, MAWL) ภาวะอุณหภูมิที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ 25 และ 30 องศาเซลเซียส การทดลองกระทำกับอาสาสมัครชาย 8 คน

ผลการศึกษา : การใช้เข็มขัดรัดหน้าท้องในภาวะอุณหภูมิต่างๆไม่ส่งผลให้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในทุกตัวแปรที่ศึกษา โดยพบแต่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ดังนี้ การใช้เข็มขัดรัดหน้าท้อง จะมีผลให้ภาระทางกายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไม่ใช้เข็มขัด (ค่าเฉลี่ยโมเมนต์ที่หลังส่วนล่าง 80.14 และ 82.38 นิวตัน-เมตร อัตราการเต้นหัวใจ 115.1 และ 116.7 ครั้ง/นาที ตามลำดับ) การทำงานในภาวะอุณหภูมิต่ำ จะมีผลให้ภาระทางกายน้อยกว่าการทำงานในภาวะอุณหภูมิสูง (ค่าเฉลี่ยโมเมนต์ที่หลังส่วนล่าง 80.87 และ 81.65 นิวตัน-เมตร อัตราการเต้นหัวใจ 115.0 และ 116.8 ครั้ง/นาที ตามลำดับ) ในขณะที่ การประเมินทางด้านจิตวิทยาพบว่า การทำงานในอุณหภูมิสูง จะได้ผลการประเมินภาระทางใจมากกว่าในอุณหภูมิต่ำจากการประเมินค่า Borg Scale คือ 13 และ 12 ตามลำดับในขณะที่ค่า MAWL ประเมินได้ 15.0 กิโลกรัม ทั้งสองกรณี ส่วนการใส่หรือไม่ใส่เข็มขัดรัดหน้าท้องไม่ทำให้ผลการประเมินเปลี่ยนไปทั้งสองตัวแปร คือ การประเมิน Borg Scale เท่ากับ 13 และ MAWL เท่ากับ 15.1 ทั้งสองกรณี
อย่างไรก็ตาม จาการสัมภาษณ์พบว่า เข็มขัดรัดหน้าท้องจะเพิ่มความรู้สึกเหนื่อยล้าหากต้องสวมใส่ในภาวะอุณหภูมิสูง เนื่องจากความอึดอัด และรำคาญจากความร้อนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อภาระงานทางจิตใจเมื่อพิจารณาทั้ง 2 ปัจจัย (การใส่เข็มขัด และอุณหภูมิการทำงาน) ร่วมกัน

คำสำคัญ เข็มขัดรัดหน้าท้อง  อุณหภูมิ  ยก  การยศาสตร์

Credit : การประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ 24-26 ตุลาคม 2550