วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การประเมินความเสี่ยงและการแก้ปัญหาทางการยศาสตร์ ในโรงงานผลิตอาหารสัตว์

Hazard Assessment and Ergonomics Problem Solving in Animal Feed Factory

ภูวนาถ ลายแสงพงค์* นิวิท เจริญใจ
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
Puwanat Laisangpong* Nivit Charoenchai
Department of Industrial Engineering, Faculty of Engineering, Chiang Mai University, Chiang Mai 50200
Email: puwanat@cpf.co.th*

ความเป็นมา : อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์นั้นมีกระบวนผลิตต่างๆหลายขั้นตอน งานบางงานมีการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการผลิต แต่ยังต้องใช้แรงงานคนเพื่อจัดการหรือควบคุมเครื่องจักร ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการทำงาน ดังนั้นการค้นหาอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน หรือท่าทางที่ไม่เหมาะสมในด้านการยศาสตร์ ด้วยการประเมินความเสี่ยง จึงช่วยทำทราบว่าในสถานที่ทำงานหรืองานนั้นๆ มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายได้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปสู่การดเนินการปรับปรุงแก้ไข

วัตถุประสงค์ : เพื่อคัดเลือกวิธีการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมการทำงาน และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงานให้เหมาะสมโดยใช้หลักการทางการยศาสตร์

วิธีการ : การศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การประเมินความเสี่ยงด้วยการบ่งชี้อันตราย โดยวิธีที่นำมาใช้ประเมินความเสี่ยงได้แก่ What If Analysis, Hazard and Operability Study (HAZOP), Fault Tree Analysis, Even Tree Analysis และ Failure Modes and Effects Analysis (FMEA) และการประเมินความเสี่ยงทางด้านการยศาสตร์ ด้วยการประเมินโดยใช้เทคนิค RULA (Rapid Upper Limb Assessment) และ สมการการยกของ NIOSH

สรุป : การประเมินความเสี่ยงด้วยวิธี Fault Tree Analysis เป็นวิธีที่พบความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ มากที่สุดถึง 12 งาน ระดับความเสี่ยงสูง จำนวน 10 งาน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จำนวน 8 งาน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุดในการนำไปใช้งาน ส่วนการประเมินความเสี่ยงทางด้านการยศาสตร์ด้วย วิธี RULA นั้นก็สามารถบอกระดับคะแนนของทุกงานออกมาได้ในระดับที่ 5,6 และ 7 คะแนนซึ่งภาพรวมหมายความว่าจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงงานให้ดีขึ้นหรือโดยทันที ส่วนการใช้สมการการยกของ NIOSH นั้นก็สามารถบอกระดับคะแนนของทุกงานออกมาได้ในระดับ 1 และ 2 คะแนนซึ่งภาพรวมหมายความว่า ควรมีการปรับปรุงแก้ไขในอนาคตอันใกล้
  
Credit : วารสารวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ 18(3) ประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2554