วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความเหมาะสมของโต๊ะและเก้าอี้ในห้องเรียนกับขนาดสัดส่วนร่างกายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

Suitability of desk and chair in classroom and anthropometric data of first grader in primary school.
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของขนาดโต๊ะและเก้าอี้กับขนาดสัดส่วนร่างกายของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และประเมินความเหมาะสมของสัดส่วนดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างนักเรียนเป็นนักเรียนอายุ 7 ปีในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง มีจำนวน 47 คน (ชาย 24 คนและหญิง 23 คน) การวัดขนาดสัดส่วนร่างกายของนักเรียนวัดโดยชุดอุปกรณ์วัดขนาดสัดส่วนร่างกาย โดยทำการวัดทั้งหมด  6 สัดส่วน คือ ความสูง (S) ความสูงของกลางหลัง (SUH) ความกว้างของสะโพกขณะนั่ง (HW) ระยะระหว่างสะโพกถึงข้อพับด้านในของหัวเข่า (BPL) ความสูงของข้อศอกขณะนั่ง (EHS) และความสูงของข้อพับ (PH) การวัดขนาดสัดส่วนโต๊ะเก้าอี้วัดทั้งหมด 5 สัดส่วน คือ ระยะระหว่างที่นั่งกับความสูงของโต๊ะ(SDH) ความกว้างของที่นั่ง (SW) ความสูงของที่นั่ง (SH) ความลึกของที่นั่ง (SD) และระยะขอบบนของพนักพิง  (UEB) ข้อมูลขนาดสัดส่วนร่างกายของนักเรียนนำมาวิเคราะห์ตามหลักการทางสถิติ จากนั้นนำข้อมูลขนาดสัดส่วนร่างกายและสัดส่วนของโต๊ะเก้าอี้ที่วัดได้มาวิเคราะห์ความเหมาะสมตามหลักการทางการยศาสตร์ ซึ่งพบว่า ค่า SDH   SW  SH  SD และ UEB มีระดับความเหมาะสม เป็นร้อยละ  2.1  91.5  19.2  53.2 และ 100 ตามลำดับ  เนื่องจากค่า UEB มีความเหมาะสมร้อยละ 100 ดังนั้นจึงทำการปรับค่าสัดส่วนเฉพาะ 4 ค่าเพื่อทำให้ได้ค่าระดับความเหมาะสมที่เพิ่มมากขึ้น  ผลที่ได้จากการปรับสัดส่วนโต๊ะเก้าอี้ พบว่าระดับความเหมาะสมของ SDH   SW  SH  และ SD เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ  72.3  93.6  80.8 และ 70.2 ตามลำดับ จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าขนาดสัดส่วนโต๊ะเก้าอี้ของนักเรียนที่ใช้ในปัจจุบันควรจะมีการปรับโดยใช้หลักการทางการยศาสตร์ เพื่อจะลดระดับความไม่เหมาะสมของสัดส่วนดังกล่าว ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างร่างกายของนักเรียนในอนาคต

คำสำคัญ: เฟอร์นิเจอร์ในห้องเรียน นักเรียนระดับประถมศึกษา การวัดขนาดสัดส่วนร่างกาย การยศาสตร์ ความไม่เหมาะสม